วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กิจกรรมพิธีกรรมภายในงาน



กิจกรรมพิธีกรรมภายในงาน 

          การทำเรือไฟในอดีตนั้น ทำด้วยไม้ไผ่และต้นกล้วย ยาวเพียง ๕ - ๖ วาเท่านั้น ความสูง ไม่เกิน ๑ เมตร และเป็นรูปเรือธรรมดา ทำราวไว้สองข้าง เพื่อวางขี้กะไต้ ตะเกียง หรือโคมไฟ มีการจัด ข้าวปลาอาหารขนมนมเนย ฝ้ายไน ไหมหลอด เสื่อผืน บรรจุไว้ข้างใน พอเวลาประมาณ ๕ โมงเย็นจะเริ่ม ทำพิธี โดยนิมนต์พระมาสวดและหลังการรับศีล ฟังเทศน์ ไหว้พระเรียบร้อยแล้ว จึงให้ญาติโยมตกแต่งเรือด้วยดอกไม้ธูปเทียนที่ถือไปบำเพ็ญกุศลนั้นเอง พอย่ำค่ำก็นำเรือไฟออกไปกลางแม่น้ำโขงแล้วจุดไฟปล่อย ให้เรือไหลไปตามลำน้ำส่งแสงระยิบตาเลยทีเดียว
          จังหวัดนครพนม ได้มีการฟื้นฟูประเพณีไหลเรือไฟขึ้น เมื่อปี ๒๕๒๖ โดยเทศบาลเมือง นครพนม ได้ประกาศชักชวนส่วนข้าราชการพ่อค้า ประชาชน และชาวคุ้มวัดต่าง ๆ ช่วยกันประดิษฐ์เรือไฟ ด้วยต้นกล้วย ไม้ไผ่ หรือวัสดุอย่างหนึ่งอย่างใดที่ลอยน้ำได้ ให้มีรูปร่างลักษณะเหมือนเรือ มีความยาวไม่น้อยกว่า ๖ เมตร โดยจะประดิษฐ์เป็นรูปหงส์ นาค ครุฑ หรือรูปอย่างใดก็ได้ที่คิดว่าสวยงาม ส่งเข้าประกวด ชิงรางวัลต่อมาการทำเรือไฟมีวิธีตกแต่งให้วิจิตรพิสดารมากยิ่งขึ้น รู้จักนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้า มาประกอบ ทำให้สามารถดัดแปลงเรือไฟให้มีรูปร่างแปลกตาออกไปอีก ทั้งพระภิกษุ สามเณร ชาวบ้าน แต่ละคุ้มวัดจะเตรียมจัดทำเรือไฟไว้ล่วงหน้าหลายวัน
          โดยนำเอาต้นกล้วยทั้งต้นมาเสียบไม้ต่อกันให้ยาว หลายวา วางขนานกันสองแถว กว้างห่างกันพอประมาณ แล้วนำไม้ไผ่เรียวยาวมาผูกไขว้กันเป็นตารางสี่เหลี่ยม มีระยะห่างกันคืบเศษวางราบพื้น มัดด้วยลวดให้แน่นและแข็งแรงเพื่อรอการออกแบบภาพบนแผงผู้ออกแบบแสดงความคิดสร้างสรรค์อย่างสวยงามที่สุด เช่นประดิษฐ์เป็นเรื่องราวตามพระพุทธประวัติ หรือสัตว์ในตำนานบ้างเป็นพญานาค ครุฑ หงส์เป็นต้น แล้วนำไปปักติดเป็นเสาบนแพหยวกกล้วยในอดีตเชื้อเพลิงที่ใช้จุดไฟนั้นใช้น้ำมันยางตระบอกขี้ผึ้งสีน้ำมันพร้าว, น้ำมันสน, น้ำมันยาง ที่เจาะสกัดจากต้นยางตะแบกชาด แล้วเอาไฟลนให้น้ำมันไหลออกมา แต่ปัจจุบันเปลี่ยนน้ำมันก๊าดหรือ น้ำมันดีเซล บรรจุในขวดน้ำดื่มต่าง ๆแล้วนำมาแขวนตามโครงเรือซึ่งต้องอาศัยการคำนวณที่แม่นยำ เพราะ ถ้าติดกันมากเกินไปจะทำให้เรือไหม้ไฟได้ ส่วนโครงเรือเป็นไม้ไผ่มีขนาดใหญ่ และเน้นความวิจิตรตระการตา เมื่อปล่อยเรือไฟลงน้ำโขงแล้ว จะมีความวิจิตรตระการตา สว่างไสวไปทั่วริมฝั่งแม่น้ำโขง อวดโฉมระยิบระยับมีฉากหลังเป็นสีดำจากท้องฟ้าในยามค่ำคืน และแสงที่สะท้อนจากท้องน้ำเพิ่มความงดงามมากยิ่งขึ้น
          เรือที่ทำปัจจุบันมีมาจากคุ้มต่าง ๆ ที่อยู่ในจังหวัดนครพนม มีการออกแบบที่สวยงาม มี เรื่องราว และดูเหมือนจริง เช่นรูปพระธาตุพนม ก็มีการออกแบบมาให้เหมือนจริงเป็น ๓ มิติ ทั้งนี้เป็น เพราะว่าถ้าคุ้มไหนชนะก็ถือเป็นหน้าเป็นตา และมีเงินรางวัลประชาชนในจังหวัดจะร่วมมือกันเป็นอย่างดี ในการช่วยเหลือกัน เพื่อทำงานนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปก่อนที่จะมีการไหลเรือไฟ ในช่วงเช้าจะประกอบการกุศลด้วยการทำบุญตักบาตร ถวาย ภัตตาหาร และเลี้ยงดูกัน ตกตอนบ่ายก็ตกแต่งเรือและมีการเล่นสนุกสนานต่าง ๆ ตอนเย็นมีการสวดมนต์ รับศีลและฟังเทศน์ พอตอนค่ำระหว่าง ๑๙.๐๐ - ๒๐.๐๐ น. จึงนำเรือออกไปลงน้ำและพิธีไหลเรือไฟก็เริ่มขึ้น
          จังหวัดหนองคาย การประดิษฐ์เรือไฟและพิธีการมีความคล้ายคลึงกับทางจังหวัด นครพนมเป็นอย่างมาก แต่มีรายละเอียดแตกต่างออกไป คือ เมื่อมีการทำบุญและฟังเทศน์จบแล้ว ก็จะมี การร้องรำทำเพลงฉลองเรือไฟ พอเวลาค่ำชาวบ้านจะนำของกินของใช้ เช่น ขนมข้าวต้ม กล้วย อ้อย ฝ้าย ผ้าไหม หมากพลู บุหรี่ ใส่กระจาดบรรจุไว้ในเรือไฟ ครั้นได้เวลาก็จุดไต้ หรือคบเพลิงในเฮือไฟให้สว่าง ชาวบ้านจุดธูปเทียนบูชา และคารวะแม่คงคา เสร็จแล้วนำเอาธูปเทียนไปวางไว้ในเรือไฟ เมื่อบูชากันหมด ทุกคน จึงปล่อยเรือไฟออกจากฝั่งให้ลอยไปตามลำน้ำ พอรุ่งเช้าเรือไฟไปติดที่ฝั่งไหนก็จะมีคนไปเก็บของออก จากเรือไฟ การล่องเรือไฟจะมีผู้เข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก
          นอกจากการลอยเรือไฟ ขณะเดียวกันที่หนองคายมีการลอยกระทง โดยใช้หยวกกล้วย ทั้งต้นมาต่อกัน มีไม้เสียบ ยาวหลายวาวางขนานกัน ๒ แถว กว้างห่างกันพอประมาณ แล้วปักเสาบนหยวก กล้วยเป็นระยะบนปลายเสา สร้างเป็นรูปพญานาค แล้วเอาผ้าขี้ริ้วชุบน้ำมันยางจุดบนปลายไม้บาง ๆ เป็น ระยะ ๆ หรือไม่ก็ใช้จุดด้วยไต้ หัวหยวกกล้วยเท่ากับเป็นทุ่น วัดในตำบลหนึ่ง ๆ ทำกระทงอย่างนี้กระทงหนึ่ง แล้วลากไปไว้เหนือน้ำ จอดอยู่ริมฝั่งทั้งสองข้าง เวลาเย็นชาวบ้านทั้ง ๒ ฝั่งแม่น้ำพากันลงเรือไปชุมนุม กันร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน พอได้เวลากลางคืนก็จุดไต้ที่กระทงเอาเชือกลากไปที่กลางน้ำ แล้ว ปล่อยให้ลอยไป ในกระทงมีอาหาร เสื้อผ้าของใช้ต่าง ๆ เมื่อเห็นลอยไปพ้นหมู่บ้านแล้วก็พากันกลับ คนที่ ยากจนที่อยู่ปลายน้ำก็จะเก็บกระทงไป
          แต่ในปัจจุบัน การลอยกระทงมิได้บรรจุอะไรนอกจากดอกไม้ธูปเทียน แล้วเรียกลอยกระทง นี้ว่า "การไหลเรือ" และต่างคนต่างลอย มิได้ลอยร่วมกัน เมื่อลอยไปแล้วผู้ที่อยู่ใต้น้ำมักจะเก็บไต้ที่จุดไปใน กระทงไปเสีย ทำให้กระทงที่จุดไต้สว่างสวย ลอยอยู่ในน้ำได้ไม่นาน
          นอกจากหนองคายมีการไหลเรือและลอยกระทงแล้ว ก็มีการแข่งเรือในแม่น้ำโขงในวันรุ่งขึ้น อีกด้วย
          จังหวัดอุบลราชธานี งานประเพณีไหลเรือไฟของชาวอุบลฯ ได้ถือกำเนิดขึ้นจากบุคคล สำคัญ ๓ คน คือ
          ๑. นายคูณ ส่งศรี อายุ ๗๓ ปี ถึงแก่กรรม ๒๔๙๐
          ๒. นายโพธิ์ ส่งศรี อายุ ๙๔ ปี ถึงแก่กรรม ๒๕๒๓
          ๓. นายดวง ส่งศรี อายุ ๘๓ ปี ถึงแก่กรรม ๒๕๑๖
          ท่านทั้ง ๓ เป็นพี่น้องกัน เป็นศรัทธาวัดทุ่งศรีเมือง ได้ประกอบพิธีไหลเรือไฟ โดยเอาถัง ประทีปที่ชาวบ้านมาจุดบูชาที่วัดลอยที่แม่น้ำมูลในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ต่อมาได้พัฒนาจากถังประทีป มาเป็นเรืออย่างเช่นที่อื่น ๆ และมาในช่วงที่ทหารอเมริกันมาประจำที่ฐานบินจังหวัดอุบลราชธานี ในระหว่างปีพ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นต้นมา มีการใช้ถังน้ำมันขนาด ๒๐๐ ลิตร ทำทุ่นและใช้ไม้ไผ่เป็นลำมาติดถังที่เคยเป็นรูปเรือ ก็ปรากฏเป็นรูปอื่น
          ส่วนจังหวัดเลย และศรีสะเกษ ก็มีความคล้ายคลึงกับจังหวัดอื่นๆ ทั้งในด้านพิธีกรรมและกิจกรรม



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น