วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ประวัติความเป็นมา



  งานประเพณีไหลเรือไฟ หรือ งานประเพณีไหลเฮือไฟ (ในภาษาท้องถิ่น-อีสาน) เป็นประเพณีที่จัดขึ้นทั่วไปในหลาย จังหวัดในภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดที่ตั้งอยู่ติดลำน้ำ เช่น แม่น้ำมูล - ชี แม่น้ำโขง เป็นต้น การไหลเรือไฟ ในภาคอีสานนั้นเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันแน่ชัดสันนิษฐานว่าคงมีมาก่อนที่พุทธศาสนา จะเผยแพร่มาสู่ประเทศไทย เพราะสมัยก่อนกษัตริย์ไทยยังยึดถือพิธีพราหมณ์อยู่ โดยได้รับอิทธิพลมาจาก อินเดีย สมัยที่นำอารยธรรมเข้ามาเผยแพร่ในแถบสุวรรณภูมิ ดังพบว่าประเพณีงานบุญโดดเด่นที่จัดขึ้น ในภาคอีสานมักเกี่ยวโยงหรือผูกพันกับเรื่องของไฟเกือบทั้งสิ้น เช่น งานแห่เทียนเข้าพรรษา บุญบั้งไฟ พิธีไหลเรือไฟ เพราะมีความเชื่อว่า "ไฟ"เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์ เรียกว่า เทพอัคคี มีฐานะรอง จากพระอินทร์ สามารถเผาผลาญสิ่งชั่วร้ายและขจัดความทุกข์ยากให้ดับสลายไปได้
          จังหวัดต่าง ๆ ที่มีการจัดประเพณีไหลเรือไฟ เช่น จังหวัดศรีษะเกษ จังหวัดเลย จังหวัด นครพนม จังหวัดหนองคาย จังหวัดอุบลราชธานี ฯลฯ  โดยงานประเพณีไหลเรือไฟของจังหวัดนครพนม จัดว่าเป็นงานไหลเรือไฟที่ยิ่งใหญ่ระดับประเทศมักจัดขึ้นคล้ายคลึงกัน แต่ก็แตกต่างกันในด้านคติ ความเชื่อ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
          จังหวัดนครพนมและหนองคาย (มีทำเลที่ตั้งติดแม่น้ำโขงเหมือนกัน) มีความเชื่อว่า เป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ประทับไว้ ที่ริมฝั่งน้ำนัมทานที ซึ่งตามพุทธประวัติกล่าวว่า ครั้งที่พญานาคได้ทูลอาราธนาพระพุทธองค์ไปแสดงธรรม ในพิภพของนาคใต้เมืองบาดาล เมื่อพระองค์เสด็จกลับทางฝ่ายพญานาคได้ทูลขอให้พระองค์ประทับรอย พระบาทไว้ ณ ริมฝั่งน้ำนัมทานที พระองค์จึงได้ประทับรอยพระบาทไว้ ณ หาดทรายริมน้ำตามประสงค์ของ พญานาค ซึ่งรอยพระบาทที่ประทับไว้นี้ ไม่เพียงแต่เป็นที่เคารพสักการะของเหล่าพญานาคเท่านั้น ยังเป็นที่เคารพของเหล่าเทวดาและมนุษย์ด้วย   จนแสดงออกด้วยการไหลเรือไฟบูชารอยพระพุทธบาทของพระองค์
          ความเป็นมาของการจัดประเพณีไหลเรือไฟของจังหวัดนครพนม เสฐียรโกเศศ ได้เขียนไว้ ในหนังสือวัฒนธรรมและประเพณีอ้างตามคำบอกเล่าของพระเถระรูปหนึ่งว่า การลอยกระทงที่จังหวัด หนองคาย เมื่อกลางเดือน ๑๑ ชาวคุ้มวัดต่าง ๆ จะร่วมกันสร้างเรือนบนต้นกล้วย เอาไม้เสียบเรียงขนานกัน เป็นทุ่นใช้ผ้าชุบน้ำมันยางมัดติดปลายไม้ หรือใช้ไต้เรียงเป็นระยะ ๆ แล้วช่วยกันเอาเชือกลากออกไปกลาง กระแสน้ำ จุดไฟปล่อยไปในเวลากลางคืน เรียกว่า "ไหลเรือ" และเมื่อลอยไปแล้วมักจะถูกคนที่อยู่ใต้กระแส น้ำเก็บเอาไต้ที่จุดไปเสียทำให้กระทงที่ดูสว่างไสวสวยงามนั้นลอยอยู่ในน้ำไม่ได้นานหลายครั้งหลายหน เข้าผู้ร่วมมือร่วมแรงกันประดิษฐ์กระทงเรือก็หมดกำลังใจ ทำให้การไหลเฮือไฟซบเซาไป และมาหยุดชะงัก เมื่อปี ๒๕๑๘ เมื่อประเทศลาวมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อันเป็นผลกระทบทางด้านการเมือง   ต่อมาทางจังหวัดนครพนมได้ฟื้นฟูประเพณีนี้ขึ้นมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖ โดยเทศบาลเมือง นครพนม ได้ประกาศชักชวนส่วนราชการพ่อค้า สมาคม และชาวคุ้มวัดต่าง ๆ ประดิษฐ์เรือไฟด้วยต้นกล้วย ไม้ไผ่ หรือวัสดุอย่างหนึ่งอย่างใดที่สามารถลอยน้ำได้ ให้มีรูปร่างลักษณะเหมือนเรือมีความยาวไม่น้อยกว่า ๖ เมตร และประดิษฐ์เป็นรูปหงส์ นาค ครุฑ หรือรูปอย่างใดก็ได้ที่คิดว่าสวยงามส่งเข้าประกวดชิงรางวัลเงินสด และปรากฏว่ามีผู้สนใจส่งเรือไฟเข้าประกวดถึง ๕๒ ลำ ในงานประกวดนั้นเฮือไฟที่งดงามจากฝีมืออันประณีตประดับด้วยโคมไฟที่สวยสะดุดตาเรียงรายอยู่กลางลำน้ำโขง เป็นภาพที่ประทับใจของชาวนครพนมและผู้ที่ ไปเที่ยวชมอย่างยิ่ง
          จังหวัดศรีษะเกษ มีความเชื่อว่า เป็นการเซ่นสรวงพญานาค ซึ่งสิงสถิตตามแม่น้ำลำคลอง ให้คุ้มครองผู้ที่สัญจรไปมาทางน้ำ ไม่ให้มีภัยอันตรายเข้ามากล้ำกราย
          จังหวัดอุบลราชธานี มีความเชื่อว่า          - เป็นการบูชารอยพระพุทธบาท
          - เป็นการบูชาพระรัตนตรัยและพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ อันได้แก่ พระกกุสันโธ พระโกนา-คมโน พระกัสสโป พระโคตโม และพระอาริยเมตไตร- เป็นการบูชาคุณแม่โพสพ คือ บูชาพานข้าว
          - เป็นการบูชาประทีปตามประเพณี
          - เป็นการบูชาดวงวิญญาณของบรรพบุรุษในความเชื่อเรื่องการบูชาบรรพบุรุษ หรือพกาพรหม ปรากฏตามนิทานชาวบ้านที่เล่าสืบต่อ กันมาว่า ครั้งหนึ่งมีกาเผือกสองผัวเมียทำรังอาศัยอยู่บนต้นไม้ในป่าหิมพานต์ใกล้กับฝั่งแม่น้ำ วันหนึ่งกาตัว ผู้บินจากรังไปหากินเผอิญหลงทางกลับรังไม่ได้ จึงบินกระเจิดกระเจิงหายไป กาตัวเมียที่กำลังกกไข่อยู่ ๕ ฟอง คอยกาตัวผู้ไม่เห็นกลับจึงกระวนกระวายใจ อยู่มาวันหนึ่งเกิดพายุใหญ่พัดรังกาพังไข่ทั้ง ๕ ฟอง ตกลงในแม่น้ำ ส่วนแม่กาถูกพัดพาไปอีกทางหนึ่ง ครั้นลมสงบบินกลับมาที่รังพบว่า รังถูกพายุพัดพังและไข่ ทั้ง ๕ ฟองหายไปหมด จึงเสียใจจนตายไป และไปเกิดใหม่ในพรหมโลก ชื่อท้าวพกาพรหมส่วนไข่ทั้ง ๕ ฟอง มีผู้นำไปรักษาไว้ดังนี้ ฟองแรกแม่ไก่เอาไป ฟองที่ ๒ แม่นาคเอาไป ฟองที่ ๓ แม่เต่าเอาไป ฟองที่ ๔ แม่โคเอาไปและฟองสุดท้ายแม่ราชสีห์เอาไปครั้นเมื่อไข่ครบกำหนดฟักแตกออกมากลับเป็นมนุษย์ไม่ใช่ลูกกาตามปกติครั้นเมื่อลูกกาทั้ง ๕โตเป็นหนุ่มเห็นโทษของการเป็นฆราวาส และเห็นถึงอานิสงส์แห่งการบรรพชาจึงได้ลามารดาเลี้ยงออกบวชเป็นฤาษีอยู่ในป่าหิมพานต์ วันหนึ่งฤาษีทั้ง ๕ ได้มาพบกันจึงได้ไต่ถามเรื่องราวของกันและกัน และพร้อมใจกันอธิษฐานว่า ถ้าต่อไปจะได้เป็น องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าขอให้ร้อนไปถึงมารดาด้วย
          แรงอธิษฐานครั้งนั้นได้ร้อนไปถึงท้าวพกาพรหม และเสด็จจากพรหมโลกจำแลงองค์เป็นกาเผือกบินมาเกาะบนต้นไม้ตรงหน้าฤาษีทั้ง ๕ และเล่าเรื่องเดิมให้ ฟัง และกล่าวว่า "ถ้าคิดถึงแม่ เมื่อถึงวันเพ็ญ เดือน ๑๑ และเดือน ๑๒ ให้เอาด้ายดิบผูกไม้ตีนกาปักธูป เทียนบูชา ลอยกระทงในแม่น้ำเถิด ทำอย่างนี้เรียกว่า คิดถึงแม่" เมื่อบอกเสร็จท้าวพกาพรหมก็ลากลับไป จนกลายมาเป็นที่มาของการลอยกระทงและไหลเรือไฟ
          จังหวัดเลย มีความเชื่อว่า  เป็นการบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวคือ บูชา พระพุทธเจ้า ในวันที่พระองค์เสด็จลงมาจากเทวโลกหลังจากที่พระพุทธองค์ได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่ดาว ดึงส์พิภพ เพื่อแสดงพระสักธรรมเทศนาอภิธรรม ๗ คัมภีร์ (บทที่ใช้สวดในงานศพ) เพื่อโปรดพุทธมารดา เมื่อออกพรรษาแล้ว พระพุทธเจ้าก็เสด็จลงมาสู่โลกมนุษย์ โดยบันไดทิพย์ทั้ง ๓ คือ บันไดทองอยู่เบื้องขวา เป็นที่ลงแห่งหมู่เทพยดา บันไดเงินเป็นที่ลงแห่งหมู่พรหม ส่วนบันไดแก้วเป็นทางเสด็จพระพุทธเจ้า หัวบันได อยู่ยอดเขาพระสิเนรุราช ทรงแสดง"โลกวิวรณ์ปาฏิหาริย์" คือ เปิดโลกโดยทอดพระเนตรไปเบื้องบนถึงพรหม โลก เบื้องต่ำสุดถึงอเวจีนรก และทิศต่าง ๆ ทั้งแปดทิศโลกธาตุแห่งหมื่นจักรวาล และเห็นเป็นลานกว้าง อันเดียวกัน ทำให้สวรรค์ มนุษย์ นรกแลเห็นกันและกัน จึงเรียกวันนี้ว่า "วันพระเจ้าโปรดโลก"พระองค์เสด็จ มา ณ เมืองสังกัสสะ สถานที่นั่นเรียกว่า "อจลเจดีย์" ทวยเทพทั้งหลายส่งเสด็จ มนุษย์ทั้งหลายรับเสด็จด้วยเครื่องสักการะบูชามโหฬาร การไหลเรือไฟก็ถือเป็นการสักการะบูชาอย่างหนึ่งในวันนั้น



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น